9/26/2011

รู้เท่าทัน..ป้องกัน...แม่ล้ม

เราหลายคนคงมีประสบการณ์ผู้สูงอายุในครอบครัวลื่นล้มแล้วมีกระดูกสันหลังหัก  กระดูกตะโพกหัก  กระดูกข้อมือหัก  หรือกระดูกแขนหัก  ขึ้นกับว่าเวลาล้มจะเอาอวัยวะส่วนใดกระแทกกับพื้น

ทำไมจึงล้ม... ทำอย่างไรจึงจะป้องกันการล้มได้  บางคนบอกว่าก็อย่าเดินก็ไม่ล้ม  หากแต่ผู้สูงอายุไม่ได้ออกกำลังกายหรือไม่ออกเดินทุก ๆ วันอย่างสม่ำเสมอแล้ว  ปล่อยให้นอนเฉย ๆ บนเตียงต่อไปก็จะไม่สามารถลุกเดินได้อีกเลย  เพราะกล้ามเนื้อจะด้อยคุณภาพลงอย่างรวดเร็ว  ข้อต่อ หัวเข่า ตะโพกจะเกิดการติดยึด แข็งและงอ  เหยียดออกได้ไม่สุด

มีปัจจัยที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการล้มนั้นก็คือ โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมทรุด  ทำให้ช่องกระดูกหรือโพรงกระดูกสันหลัง  ซึ่งเป็นที่อยู่ของเส้นประสาทสันหลังหรือไขสันหลังตีบแคบลงเกิดการกดเบียดเส้นประสาท  จากพังผืดที่หนาตัวขึ้นรวมทั้งหินปูนและกระดูกงอกนานวันเข้า  เส้นประสาทถูกกดทับมากเข้าจะทำให้เกิดการอ่อนแรงของขา  ขาลีบเล็กลง  สังเกตได้ว่าขาไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ  บางครั้งสามารถคลำได้ถึงกระดูกขาเรียกหนังหุ้มกระดูก  เมื่อขาอ่อนแรงไม่มีแรงทรงตัว  เวลาเสียหลักเพียงเล็กน้อยก็จะเกิดการล้มหงายหลังตะโพก  ก้นกระแทกพื้นอันก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมา  คือกระดูกหักดังที่กล่าวมาแล้ว

มีวิธีที่จะตรวจหาความเสี่ยงต่อการล้มได้หรือไม่
คำตอบ คือ  ได้ง่าย ๆ โดยลองให้คุณพ่อ คุณแม่ลองลุกขึ้นยืนแล้วยกขาขึ้นข้างใดข้างหนึ่ง  หรือให้ยืนแบบกระต่ายข้างเดียว ถ้าสามารถยืนทรงตัวได้นาน 10 วินาที ถือว่ากล้ามเนื้อยังแข็งแรงพอ  หรือลองถามดูว่ายืนใส่กางเกงได้หรือเปล่า  บางครั้งบอกว่าได้แต่ต้องยืนพิงผนังเวลาใส่กางเกง  อาการที่ไม่สามารถยืนทรงตัวได้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะช่องกระดูกสันหลังตีบแคบและมีกระดูกงอกไปเบียดทับเส้นประสาท  แต่จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างสมบรูณ์ต้องทำการตรวจเพิ่มเติม
1. เอกซเรย์กระดูกสันหลังระดับเอว (Film L-S Spine)
2. ตรวจหาความหนาแน่นกระดูกสันหลังและตะโพก (BMD)
3. ตรวจเอกซเรย์แม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอกระดูกสันหลังระดับเอว (MRI of L-S Spine)

เพียงการตรวจ 3 ประการนี้  จะช่วยให้เราทราบว่าผู้สูงอายุในบ้านที่เป็นที่รักของเรามีความเสี่ยงต่อการล้มกระดูกหรือไม่  ถ้าทราบแต่เนิ่น ๆ จะได้ตระหนักถึงการแก้ไข เช่น การเสริมสร้างสมรรถภาพของกล้ามเนื้อรอบตะโพก กล้ามเนื้อท่อนขา การให้ยาเสริมให้กระดูกแข็งแรงเป็นต้น  เหล่านี้เพื่อให้บุคคลอันเป็นที่รักมีคุณภาพชีวิตดี  อายุยืนนาน

ข้อมูลจาก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ จิระเดช ตุงคะเศรณี
ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ  โรงพยาบาลพญาไท 2

1 comment:

  1. ต้อง9/26/2011

    ทำไมมันเริ่มห่างไกลจากบ้านและสวนขึ้นทุกที

    ReplyDelete