10/07/2014

10 สิ่งต้องตระหนักเมื่อผจญภาวะท้องผูก

10 สิ่งต้องตระหนักเมื่อผจญภาวะท้องผูก
โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช 

ของกินจะอร่อยนัวแค่ไหนแต่ถ้าลำไส้ไม่ดีก็หมดกัน เรื่องท้องไส้ เป็นเรื่องสำคัญมากครับ สมัยยังเด็กนึกอยากกินอะไรตามใจสักเพียงใดก็ไม่กังวลนักด้วยไม่มีปัญหา “เบื้องล่าง” แต่เมื่อมีอายุเข้าหรือได้ประสบปัญหาทางเดินอาหารแบบไม่คาดคิดจึงทำให้ของอร่อยพาลหมดอร่อยไป
      
       ไม่อยากกินเมื่อนึกถึงปัญหาที่จะตามมา
      
       ไม่ว่าริดซี่(ริดสีดวงทวาร),โรคกระเพาะ, กรดไหลย้อนหรือเรื่องง่ายๆ อย่าง “ท้องผูก” นี่ละครับ สำหรับเรื่องนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนที่เป็นอย่างน่าเห็นใจ
      
       เพราะกินเข้าไปแล้วแสนอึดอัด
      
       การที่มันไม่ออกมาหรือว่ากว่าจะออกนั้นแสนลำบากเจ็บปวดทำให้หลายท่านเข็ดขยาด ทำให้ชีวิตหมดสีสันไป ของที่เคยอร่อยก็หมดอร่อย
      
       กร่อยเพราะท้องผูก
      
       ซึ่งที่จริงแล้วการแก้ปัญหาท้องผูกจะไม่ยากหากรู้ “ต้นตอ” ของมันว่าอะไรที่ทำให้ “ถ่ายไม่ปกติ” แต่อย่างแรกต้องทราบก่อนว่าสรีระวิทยาแห่งการขับถ่ายของเสียนั้นมีอะไรประกอบอยู่บ้าง
      
       3 กลไกช่วยให้ถ่ายดี
      
       - เส้นทางดี นั่นคือ ลำไส้ที่เป็นช่องอุโมงค์โล่งดีไม่มีอะไรมากั้นขวางหรือเบียดตัน
      
       - วัตถุดิบดี คือ มีเส้นใยในกากอาหารและกากนั้นไม่แข็งหรือเหนียวมากจนเกินไป
      
       - พลังขับเคลื่อนดี มีแรงส่งจากลำไส้และแรงเบ่งกำลังดีที่เหมาะสม
      
       ทั้งหมดนี้รวมกันเป็นระบบขับถ่ายที่มีประสิทธิภาพ แต่เมื่ออายุมากขึ้นท่านจะสังเกตว่ามันอาจมีปัญหาได้ เพราะกล้ามเนื้อที่ออกแรงลดลง, ลำไส้บีบตัวไม่ดีและอาหารที่รับประทานได้น้อย
      
       นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ต้องนึกถึงเมื่อท้องผูกอีกเป็นขบวนต่อไปนี้ครับ
      
       10 เรื่องที่เกี่ยวกับท้องผูก
   
10 สิ่งต้องตระหนักเมื่อผจญภาวะท้องผูก/นพ.กฤษดา ศิรามพุช
        1) ถ่ายไม่เป็นเวลา ท่านที่ไม่ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาเดียวกันนั้นอาจนำไปสู่โรคท้องผูกในที่สุด เพราะลำไส้ก็เหมือนกับอวัยวะอื่นที่ต้องมี “นาทีทอง” ของการทำงานเช่นเดียวกัน
      
       โดยลำไส้ใหญ่จะบีบตัวเป็นลูกคลื่นโตๆ แค่ 1-3 ครั้งต่อวัน แต่มันช่วยขับกากอาหารทั้งขบวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยถ้าท่านฝึกปลุกลำไส้ให้ตรงเวลามันก็จะทำงานให้ท่านได้อย่างน่าประทับใจยิ่งครับ
      
       2) ชอบอั้นถ่าย ชีวิตคนยุคใหม่ทำให้การ “กลั้นถ่าย” เป็นเรื่องที่เกิดอยู่เสมอๆ
      
       การอั้นถ่ายหนักบ่อยๆก็เหมือนกับการ “ฝืนธรรมชาติ” ครับ เพราะโดยสรีระแล้วของเสียที่มีปริมาณมากพอจะกระตุ้นลำไส้ให้รู้สึก “ปวดอัตโนมัติ” ดังนั้นถ้าท่านที่รักทำตามกระแสได้จะดีครับ
      
       3) แคลเซียมมากไป การได้รับแคลเซียมมากไป (Hypercalcemia) จากอาหารประจำวันหรือผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมมีส่วนทำให้เกิด “ท้องผูก” ได้ง่ายๆ
      
       จากที่ได้คุยกับคนไข้หลายท่านบอกว่าไม่คิดว่า “แคลเซียมธรรมดา” ที่กินอยู่ทุกมื้อจะทำให้เกิดได้ เลยอยากฝากไว้เผื่อท่านที่ท้องผูกไม่หายลองพักแคลเซียมไว้ แล้วสังเกตอาการดูร่วมกับดื่มน้ำให้เยอะครับ
      
       4) มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในท่านที่มีท้องผูกบ่อยๆ หากร่วมกับสัญญาณอื่นอย่างเบื่ออาหาร, ผอมลง,ถ่ายผูกสลับเหลวและบางรายมีเลือดปนด้วยก็ต้องระวัง “โรคที่คุณก็รู้ว่าอะไร” ไว้ด้วยนะครับ
      
       โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) ที่ทำให้มีอาการท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วยได้
      
       5) นึกถึงลำไส้แปรปรวน อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) จะทำให้ท้องอืด, ผูกหรือในบางท่านสลับท้องเสียได้ มักพบในท่านที่เหนื่อย เพลีย อ่อนล้า ทำงานหนักหรือหนักอกหนักใจเรื่องใดๆในชีวิตจะทำพิษกับลำไส้ให้ป่วนจนท้องผูกได้
      
       6) ไทรอยด์ต่ำทำให้ท้องผูกได้ เป็นอีกโรคหนึ่งที่ทำให้มีอาการทางลำไส้ได้เช่นท้องผูก,ท้องอืดแน่น มีอาการคล้ายโรคกระเพาะแต่เป็นเรื้อรังไม่หายสักที มักร่วมกับมีอวบขึ้นบวมขึ้นทั้งที่กินก็ไม่มาก
      
       หากมีอาการเช่นว่าก็อย่าเพิ่งตกใจไป ขอให้ลองเจาะเลือดตรวจไทรอยด์ดูก่อนแล้วแก้ได้ครับ
      
       7) ทำให้เกิดแผลปากทวาร ในเด็กเล็กที่ท้องผูกบ่อย ปล่อยเข้าห้องน้ำเองร้องจ๊ากทุกทีมีอาการหวาดผวานั่งกระโถน
       ขอให้นึกถึงโรคแผลปริที่ปากก้น (Anal Fissure) นี้ไว้ เพราะมันมาจากท้องผูกแล้วเบียดบาดก้นอ่อนจนเป็นแผล ค่อยแก้เรื่องท้องผูกฝึกการเข้าห้องน้ำแล้วจะตัดวงจรแผลนี้ได้ขาดครับ
      
       8) ริดสีดวงตามมา เมื่อท้องผูกบ่อย ประกอบกับปัจจัยอีก 2-3 อย่างอาจสร้างให้เกิดตุ่มพองของเส้นเลือดขอดที่ทวารหนักได้ ทำให้เกิดเลือดออกหรืออาการเจ็บปวดตามมาพร้อมกับคลำได้ติ่งที่เหมือนนินจาโผล่บ้างผลุบบ้างตามระยะของมัน
       ถ้าเป็นเช่นนี้ขอให้แก้เรื่องท้องผูกก่อนจะช่วยได้มากครับ
      
       9) ผูกได้ในคนท้อง ในสาวๆ ที่มีน้องในท้องขอให้ระวังท้องผูกตามธรรมชาติที่อาจเกิดได้เมื่อเริ่ม “ท้องแก่” และเกิดไปเรื่อยจนกว่าจะคลอด เพราะท้องที่ป่องขึ้นทุกวันคืนจะเพิ่มแรงดันให้ขยุ้มเส้นเลือดเบ่งบานขยายออกเป็นริดสีดวงที่ทวารหนักได้
      
       ในคนท้องจึงต้องดูแลเรื่องอาหารดีๆ ด้วยจะได้ช่วยการขับถ่ายครับ
      
       10) เบาหวานทำท้องผูกได้ เรื่องหวานๆ อย่างน้ำตาลสูงในเลือดถ้านานถึงระดับหนึ่งจะเริ่มไปเยี่ยมเยียนตามที่ต่างๆ อย่างจอตา, ลงไตหรือที่ “ลำไส้” ก็ไปได้ เพราะความหวานไปทำให้ “หลอดเลือด” และ “เส้นประสาทเสื่อม” ทั่วราชอาณาจักร
      
       โดยหลักๆ แล้วตามปลายอวัยวะต่างๆ อย่างลำไส้ก็ทำให้เส้นประสาทที่คุมเสียไปทำให้ขี้เกียจทำงานเกิดอาการท้องอืด, กรดไหลย้อน, ท้องเสีย หรือท้องผูกเรื้อรังได้
      
       อาการท้องผูกที่ว่าไปนี้หลายท่านหนักที่อาการถ่ายยากและหลายวันกว่าจะถ่าย เพื่อให้เกิดความประทับใจมากขึ้นบางท่านจึงเลือกใช้ “ทางลัด” อย่างยาถ่ายหรือการดีท็อกซ์ลำไส้เพื่อให้ “ระบาย” ออกมาจะได้สบายตัว อีกทั้งเกรงว่าท้องผูกนานจะเก็บสารพิษไว้บานตะไท
      
       ซึ่งในกรณีหลังนี้ขอให้ลองรับประทาน “อาหารดีท็อกซ์” แบบธรรมชาติดูด้วยนะครับ อย่างแกงส้มรสจี๊ด(มีมะขามเปียก),  ผักชะอมชุบไข่ทอด(ชะอมมีใยอาหารมาก), ใบขี้เหล็ก(ช่วยระบายได้), กระเจี๊ยบอ่อน(ฝักเรียวเขียวมีเมือกใสช่วยถนอมลำไส้)
      
       นอกจากนั้นผลไม้แบบไทยๆที่ช่วยได้ก็มีกล้วยน้ำว้า, มะละกอ, สับปะรด, ส้มโอ, ลิ้นจี่ ที่ช่วยให้การเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องน่าประทับใจขึ้น
      
       แถมอย่าลืม “ออกกำลังกาย” ช่วยด้วยอีกแรงนะครับ
(โดย..นพ.กฤษดา ศิรามพุช)

No comments:

Post a Comment